เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[729] อนึ่ง สมณะใดรู้แจ้งธรรม
สำรวมจิตของตนได้ ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้
สมณะนั้นชื่อว่าเป็นมุนี
ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี
สมณะนั้นเป็นมุนีได้บรรลุปฏิปทาของมุนี1แล้ว
นาลกสูตรที่ 11 จบ

12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ-
สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ
พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี
ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้
รู้จักธรรมแยกออกเป็น 2 คู่ตามความเป็นจริง’
เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น 2 คู่ คือ
(1) การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ 1
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่
ที่ 2 ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
1 บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. 2/727-729/332-333)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :672 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง 1 ใน
2 อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[730] สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[731] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
[732] ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[733] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา1

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ อิติวุตตกะ ข้อ 103 หน้า 481-482 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :673 }